ความจริงใจและความอ่อนแอ

“สวัสดี เป่าฟาง!” เพื่อนที่โบสถ์คนหนึ่งส่งข้อความมา “ในการประชุมกลุ่มแคร์ของเดือนนี้ ขอให้ทุกคนทำตามที่ยากอบ 5:16 กล่าวไว้กันเถอะ ให้เรามาสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยของการไว้ใจและการรักษาความลับ เพื่อเราจะสามารถแบ่งปันสิ่งที่เรากำลังต่อสู้ในชีวิตและอธิษฐานเผื่อซึ่งกันและกัน”

ฉันไม่แน่ใจว่าจะตอบอย่างไรอยู่ชั่วครู่หนึ่ง แม้ว่าสมาชิกในกลุ่มเล็กๆของเราจะรู้จักกันมาหลายปี แต่เราไม่เคยแบ่งปันความเจ็บปวดหรือสิ่งที่เราต้องต่อสู้ให้กันและกันฟังเลย เพราะในท้ายที่สุดแล้วการให้คนอื่นรู้จุดอ่อนแอของเราเป็นเรื่องที่น่ากลัว

แต่ความจริงคือเราทุกคนเป็นคนบาปและต่างก็มีปัญหา เราทุกคนล้วนต้องการพระเยซู การพูดคุยอย่างจริงใจถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าและการพึ่งพาในพระคริสต์ เป็นทางหนึ่งที่จะหนุนใจเราให้เชื่อวางใจในพระองค์ต่อไป เมื่อเรามีพระเยซูนั้น เราก็ไม่ต้องแสร้งทำเป็นว่าชีวิตเราไม่มีปัญหาอีกต่อไป

ดังนั้นฉันจึงตอบว่า “ได้สิ เรามาเริ่มกันเลย” ตอนแรกเราก็รู้สึกแปลกๆ แต่เมื่อมีคนหนึ่งเปิดใจและแบ่งปัน คนต่อมาก็ทำตาม แม้จะยังมีบางคนที่ไม่พูด แต่เราก็เข้าใจ ไม่มีใครกดดันใคร ในตอนท้ายเราจบลงด้วยการทำในส่วนที่สองของพระธรรมยากอบ 5:16 ที่ว่า “จงอธิษฐานเพื่อกันและกัน”

ในวันนั้นฉันได้พบกับความงดงามของการสามัคคีธรรมกับผู้เชื่อในพระเยซู เพราะความเชื่อที่เรามีร่วมกันในพระคริสต์ เราจึงสามารถเปิดเผยถึงความอ่อนแอของเราต่อกันและกัน และพึ่งพาพระองค์และเพื่อนๆคนอื่นที่จะช่วยเหลือในความอ่อนแอและปัญหาของเรา

จงรักเพื่อนบ้านของท่าน

มันเป็นเพียงเกมสนุกๆในกลุ่มอนุชน แต่ก็เป็นบทเรียนสำหรับเราว่าจงเรียนรู้ที่จะรักเพื่อนบ้านที่คุณมี แทนที่จะเปลี่ยนเพื่อนบ้านใหม่ ทุกคนนั่งเป็นวงกลมขนาดใหญ่ ยกเว้นคนเดียวที่ยืนอยู่กลางวง คนที่ยืนถามคนที่นั่งว่า “คุณรักเพื่อนบ้านไหม” คนที่นั่งจะตอบได้สองแบบ คือ รักหรือไม่รัก และเขาต้องตัดสินใจว่า เขาต้องการแลกเพื่อนบ้านของตนกับคนอื่นไหม

ในชีวิตจริงเราก็หวังว่าจะสามารถเลือก “เพื่อนบ้าน” ได้เช่นกันใช่ไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามีเพื่อนร่วมงานที่เข้ากันไม่ได้ หรือเพื่อนบ้านติดกันที่ชอบตัดหญ้าในเวลาที่คาดไม่ถึง แต่บ่อยครั้งเหลือเกินที่เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับเพื่อนบ้านที่มีปัญหา

เมื่อชนอิสราเอลย้ายเข้ามาอาศัยในดินแดนซึ่งทรงสัญญาไว้ พระเจ้าทรงมอบคำสอนสำคัญเกี่ยวกับวิธีการดำเนินชีวิตในฐานะประชากรของพระองค์พวกเขาได้รับคำสั่งให้ “รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (ลนต.19:18) ซึ่งรวมถึงการไม่แพร่ข่าวซุบซิบนินทาหรือข่าวลือ ไม่เอาเปรียบเพื่อนบ้าน และเผชิญหน้าผู้คนโดยตรงหากเรามีอะไรขัดแย้งกับพวกเขา (ข้อ 9-18)

ในขณะที่การรักทุกคนเป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นไปได้ที่จะปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความรักเมื่อพระเยซูทรงกระทำกิจในเราและผ่านเรา พระเจ้าจะประทานสติปัญญาและความสามารถในการทำเช่นนั้น เมื่อเราพยายามดำเนินชีวิตตามอัตลักษณ์ของเราในฐานะประชากรของพระองค์

หัวใจที่ขอบพระคุณ

ฮันเซิล พาร์ชเมนต์ตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน เขานั่งรถประจำทางไปผิดที่ในการแข่งขันรอบรองชนะเลิศกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว และเขาเหลือความหวังเพียงน้อยนิดที่จะไปถึงสนามแข่งให้ทันเวลา แต่ขอบคุณพระเจ้าที่เขาพบกับทริจาน่า สต็อจโกวิคผู้เป็นอาสาสมัครในการแข่งขัน เธอให้เงินเป็นค่าแท็กซี่กับเขา พาร์ชเมนต์ไปแข่งรอบรองชนะเลิศทันเวลาและยังได้เหรียญทองในการแข่งวิ่งกระโดดข้ามรั้วระยะ 110 เมตร เขากลับไปหาสต็อจโกวิคและขอบคุณเธอสำหรับความกรุณานั้น

ในลูกาบทที่ 17 เราได้อ่านเกี่ยวกับคนโรคเรื้อนชาวสะมาเรียที่กลับมาขอบคุณพระเยซูที่รักษาเขาให้หาย (ข้อ 15-16) พระเยซูทรงเข้าไปในหมู่บ้านซึ่งพระองค์พบกับคนโรคเรื้อนสิบคน ทุกคนร้องขอให้พระองค์รักษา และทุกคนมีประสบการณ์กับพระคุณและฤทธิ์อำนาจของพระองค์ ทั้งสิบคนดีใจที่ได้รับการรักษา แต่มีเพียงคนเดียวที่กลับมาแสดงความขอบคุณ เขา “กลับมาสรรเสริญพระเจ้าด้วยเสียงดัง และกราบลงที่พระบาทของพระเยซู โมทนาพระคุณของพระองค์” (ข้อ 15-16)

ทุกวันเรามีประสบการณ์กับพระพรของพระเจ้าในหลากหลายรูปแบบ อาจเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเช่นคำอธิษฐานได้รับคำตอบหลังการทนทุกข์ที่ยาวนาน หรือการได้รับความช่วยเหลือทันเวลาจากคนแปลกหน้า บางครั้งพระพรของพระองค์มาในแบบธรรมดาด้วย เช่น อากาศดีที่จะได้ทำงานนอกบ้านให้เสร็จ ขอให้เราจดจำที่จะขอบคุณพระเจ้าถึงพระกรุณาของพระองค์ที่มีต่อเรา เหมือนกับชายโรคเรื้อนชาวสะมาเรียนั้น

จงฉวยโอกาส

ระหว่างรอเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย ชินยี่วัยยี่สิบปีตัดสินใจที่จะอุทิศช่วงเวลาก่อนเปิดภาคเรียนสามเดือนเพื่อร่วมรับใช้กับองค์กรที่ทำงานกับเยาวชนดูเหมือนเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะการระบาดของโควิด 19 ทำให้ไม่สามารถพบปะพูดคุยกันหน้าต่อหน้า แต่ไม่นานชินยี่ก็หาวิธีได้ “เราไม่สามารถเจอกับนักเรียนที่ถนน ในห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์อาหารที่เราเคยพบกันได้ในภาวะปกติ” เธอแบ่งปัน “แต่เรายังคงติดต่อกับนักเรียนที่เป็นคริสเตียนผ่านระบบซูมเพื่ออธิษฐานเผื่อซึ่งกันและกัน และพูดคุยกับนักเรียนที่ไม่เป็นคริสเตียนทางโทรศัพท์”

ชินยี่ได้ทำสิ่งที่อัครทูตเปาโลหนุนใจให้ทิโมธีทำ “จงทำหน้าที่ของผู้ประกาศข่าวประเสริฐ” (2ทธ.4:5) เปาโลเตือนว่าผู้คนจะมองหาครูที่สอนในสิ่งที่พวกเขา ชอบฟัง แต่ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องได้ยิน (ข้อ 3-4) เปาโลกำชับทิโมธีให้มีความกล้าและเตรียมพร้อมทั้ง “ขณะที่มีโอกาสและไม่มีโอกาส” เขาจะต้อง “ชักชวนด้วยเหตุผล เตือนสติ และตักเตือนให้อดทนอยู่เสมอในการสั่งสอน” (ข้อ 2)

แม้ว่าเราไม่ได้รับการทรงเรียกให้เป็นผู้ประกาศหรือผู้เทศนากันทุกคน แต่เราทุกคนสามารถมีส่วนในการแบ่งปันความเชื่อของเราแก่ผู้คนที่อยู่รอบข้างได้ ผู้ที่ไม่เชื่อกำลังพินาศหากปราศจากพระคริสต์ ผู้เชื่อต้องการการเสริมกำลังและการหนุนใจ โดยการทรงช่วยเหลือของพระเจ้า ขอให้เราประกาศข่าวดีของพระองค์ในทุกที่และทุกเวลาที่เรามีโอกาส

ขอบพระคุณสำหรับวันจันทร์

ฉันเคยกลัววันจันทร์ บางครั้งเมื่อฉันลงจากรถไฟเพื่อไปยังที่ทำงานเก่า ฉันจะนั่งอยู่ที่สถานีครู่หนึ่งเพื่อเลี่ยงเวลาไปถึงตึกแม้จะเพียงไม่กี่นาที หัวใจของฉันจะเต้นแรงเมื่อกังวลว่าใกล้ถึงเวลาส่งงานและต้องรับมือกับอารมณ์ที่ไม่คงที่ของเจ้านาย

สำหรับเราบางคน การเริ่มสัปดาห์ทำงานอันน่าเบื่ออาจยากเป็นพิเศษ เราอาจรู้สึกหนักใจหรือคิดว่างานของเราไม่สำคัญ กษัตริย์ซาโลมอนบรรยายถึงความเหนื่อยยากในการทำงานเมื่อพระองค์เขียนว่า “เพราะว่าเขาได้อะไรจากบรรดางานตรากตรำ และคร่ำเครียดที่เขาต้องทำภายใต้ดวงอาทิตย์เล่า ด้วยว่าปีเดือนของเขามีแต่ความเจ็บปวด และกิจธุระของเขาก่อความสลดใจ” (ปญจ.2:22-23)

ในขณะที่กษัตริย์ผู้ทรงสติปัญญาไม่ได้มอบยาสารพัดโรคที่จะทำให้งานกดดันน้อยลงหรือให้ผลตอบแทนมากขึ้น แต่พระองค์แนะนำให้เราเปลี่ยนมุมมอง ไม่ว่างานของเราจะยากเพียงใด พระองค์หนุนใจเราให้ “หาความชื่นบาน” จากมันด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า (ข้อ 24) บางทีสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงช่วยให้เราสามารถสำแดงถึงพระลักษณะของพระคริสต์ หรือเมื่อเราได้ยินเรื่องของคนที่ได้รับพรจากการรับใช้ของเรา หรือเมื่อเราระลึกถึงสติปัญญาที่พระเจ้าประทานให้จัดการกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก แม้งานของเราอาจจะยาก แต่พระเจ้าผู้ทรงสัตย์ซื่อทรงอยู่กับเรา การสถิตอยู่และฤทธิ์อำนาจของพระองค์ส่องสว่างแม้ในวันที่มืดมน ด้วยความช่วยเหลือจากพระองค์ เราจึงสามารถขอบพระคุณสำหรับวันจันทร์

เสรีภาพที่แท้จริง

ขณะอ่านหนังสือบนรถไฟ เหม่ยหลิงยุ่งอยู่กับการขีดเน้นข้อความและจดบันทึกบนขอบหนังสือของเธอ แต่บทสนทนาของแม่ลูกที่นั่งอยู่ใกล้ๆ ทำให้เธอต้องหยุดชะงักผู้เป็นแม่กำลังสั่งสอนลูกที่ไปขีดเขียนหนังสือจากห้องสมุด เหม่ยหลิงรีบเก็บปากกาเพราะไม่อยากให้เด็กน้อยเมินคำพูดของแม่เพราะเลียนแบบเธอ เธอรู้ว่าเด็กไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างการทำความเสียหายให้กับหนังสือที่ยืมมากับการจดบันทึกในหนังสือของตัวเอง

การกระทำของเหม่ยหลิงทำให้ฉันนึกถึงข้อความหนุนใจของอัครทูตเปาโลใน 1 โครินธ์ 10:23-24 “เราทำสิ่งสารพัดได้ แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งที่จะทำได้นั้นเป็นประโยชน์ เราทำสิ่งสารพัดได้ แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งที่จะทำให้เจริญขึ้น อย่าให้ผู้ใดเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่น”

ผู้เชื่อพระเยซูในคริสตจักรเกิดใหม่ที่เมืองโครินธ์มองเสรีภาพของพวกเขาในพระคริสต์ว่าเป็นโอกาสในการทำตามความต้องการส่วนตัว แต่เปาโลเขียนว่า พวกเขาควรจะมองว่านี่เป็นโอกาสที่จะได้ทำประโยชน์และเสริมสร้างผู้อื่น ท่านสอนพวกเขาว่าเสรีภาพที่แท้จริงไม่ใช่สิทธิ์ในการทำตามความปรารถนาของตน แต่เป็นเสรีภาพที่จะทำในสิ่งที่พวกเขาควรทำเพื่อพระเจ้า

เราเดินตามรอยพระบาทพระเยซู เมื่อเราเลือกใช้เสรีภาพของเราในการสร้างผู้อื่นขึ้นแทนที่จะรับใช้ตัวเอง

ร้านประตูแคบ

ครัวซองต์ เกี๊ยว แกงหมู และอาหารเลิศรสทุกชนิด รอคอยผู้ที่หาเจอและเข้ามายังร้านประตูแคบนี้ ร้านซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองไถ่หนานของไต้หวันนี้ดูคล้ายกับรูในกำแพง ทางเข้ากว้างเพียงสี่สิบเซนติเมตร (น้อยกว่าสิบหกนิ้ว) พอให้คนรูปร่างปกติแค่คนเดียวแทรกเข้าไป! แม้จะมีความท้าทาย แต่ร้านที่มีเอกลักษณ์พิเศษนี้กลับดึงดูดผู้คนจำนวนมาก

สิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับประตูคับแคบที่ถูกกล่าวถึงในลูกา 13:22-30 ด้วยหรือไม่ มีคนถามพระเยซูว่า “พระองค์เจ้าข้า คนที่รอดนั้นน้อยหรือ” (ข้อ 23) พระเยซูทรงตอบด้วยการท้าทายเขาว่า “จงเพียรเข้าไปทางประตูคับแคบ” สู่แผ่นดินของพระเจ้า (ข้อ 24) พระองค์กำลังถามอย่างเจาะจงว่า “คนที่รอดนั้นมีท่านด้วยหรือไม่” พระเยซูทรงใช้คำอุปมานี้เพื่อเตือนชาวยิวไม่ให้ทะนงตน พวกเขาหลายคนเชื่อว่าตนจะได้เข้าสู่แผ่นดินของพระเจ้าเพราะเป็นเชื้อสายของอับราฮัม หรือเพราะพวกเขารักษากฎบัญญัติ แต่พระเยซูทรงท้าทายพวกเขาให้ตอบสนองพระองค์ก่อนที่ “เจ้าบ้าน...ปิดประตู” (ข้อ 25)

ภูมิหลังทางครอบครัวหรือการกระทำของเราไม่สามารถทำให้เราชอบธรรมในสายพระเนตรพระเจ้าได้ มีเพียงความเชื่อในพระเยซูที่สามารถช่วยเราจากความบาปและความตาย (อฟ.2:8-9; ทต.3:5-7) ประตูนั้นคับแคบ แต่มันเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่ยินดีจะเชื่อวางใจในพระเยซู วันนี้พระองค์ทรงเชิญเราให้คว้าโอกาสที่จะเข้าประตูคับแคบไปสู่แผ่นดินของพระองค์

ขอบคุณ แต่ไม่เป็นไร

โรงเรียนคริสเตียนสำหรับเด็กออทิสติกแห่งหนึ่งในอินเดียได้รับเงินบริจาคก้อนใหญ่จากบริษัทแห่งหนึ่ง หลังตรวจสอบว่าไม่มีข้อผูกมัดใดๆ พวกเขาจึงยอมรับเงินนั้น แต่ต่อมาบริษัทขอเป็นคณะกรรมการบริหารของโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงได้คืนเงินก้อนนั้นไป เธอไม่ยอมผ่อนปรนในจุดยืนของโรงเรียน เธอกล่าวว่า “การทำงานของพระเจ้าตามแนวทางของพระเจ้านั้นสำคัญกว่า”

เหตุผลในการปฏิเสธความช่วยเหลือมีมากมาย และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง ในพระคัมภีร์เราเห็นอีกเหตุผลหนึ่ง เมื่อชาวยิวที่ถูกเนรเทศได้กลับมายังเยรูซาเล็ม กษัตริย์ไซรัสทรงมอบหมายให้พวกเขาสร้างพระวิหารขึ้นมาใหม่ (อสร.3) เมื่อเพื่อนบ้านเอ่ยว่า “ให้เราสร้างด้วยกันกับท่านเพราะว่าพวกเรานมัสการพระเจ้าของท่านอย่างท่านทั้งหลาย” (4:2) บรรดาผู้นำของอิสราเอลปฏิเสธ พวกเขาตัดสินใจว่าการยอมรับความช่วยเหลือนั้นจะทำให้การสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ไม่สมบูรณ์ และการกราบไหว้รูปเคารพอาจคืบคลานเข้ามาในชุมชนของพวกเขา เพราะบรรดาเพื่อนบ้านเหล่านั้นกราบไหว้รูปเคารพด้วย ชนชาติอิสราเอลตัดสินใจถูกต้องแล้ว เพราะนับแต่นั้นมา “พวกเพื่อนบ้าน” ทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการก่อสร้างของพวกเขา

ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ และคำแนะนำของผู้เชื่อที่มีปัญญา เราสามารถพัฒนาสู่การแยกแยะที่ดีได้ และเราจะมั่นใจได้ในการปฏิเสธข้อเสนอที่ดูเป็นมิตรแต่อาจแฝงไว้ด้วยอันตรายฝ่ายวิญญาณ เพราะพระเจ้าจะไม่ทรงยอมให้พันธกิจที่ดำเนินตามแนวทางของพระองค์ต้องขาดสิ่งใด

ดำเนินชีวิตให้ดี

พิธีศพฟรีสำหรับผู้ที่ยังมีชีวิต มีสถานประกอบการในประเทศเกาหลีใต้ได้เสนอบริการนี้ นับแต่เริ่มเปิดให้บริการในปี 2012 มีผู้เข้าร่วมใน “พิธีศพสำหรับคนเป็น” ทั้งวัยรุ่นจนถึงวัยเกษียณมากกว่า 25,000 คน ต่างหวังที่จะปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้นโดยการคิดพิจารณาถึงความตายของตน เจ้าหน้าที่กล่าวว่า “พิธีไว้อาลัยจำลองจัดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของการมีชีวิต กระตุ้นให้เกิดความกตัญญู และช่วยให้เกิดการให้อภัยและสานสัมพันธ์ขึ้นใหม่ในครอบครัวและผองเพื่อน”

คำพูดนี้สะท้อนสติปัญญาของครูผู้เขียนพระธรรมปัญญาจารย์ “เพราะนั่น (ความตาย) เป็นวาระสุดท้ายของมนุษย์ทั้งปวง และผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่จะเอาเหตุการณ์นั้นใส่ไว้ในใจ” (ปญจ.7:2) ความตายเตือนเราถึงชีวิตที่แสนสั้น และเรามีเวลาจำกัดที่จะดำเนินชีวิตให้ดีและมีความรัก ความตายคลายการยึดติดในของขวัญดีๆบางอย่างจากพระเจ้า เช่น เงินทอง ความสัมพันธ์และความสุข และปลดปล่อยเราให้ชื่นชมยินดีในสิ่งเหล่านั้นที่นี่ตอนนี้ ในขณะที่เราสะสม “ทรัพย์สมบัติไว้ในสวรรค์ ที่ไม่มีแมลงจะกินและไม่มีสนิมจะกัด และที่ไม่มีขโมยขุดช่องลักเอาไปได้” (มธ.6:20)

เมื่อเราระลึกได้ว่าความตายอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา นั่นอาจผลักดันเราให้เลิกลังเลที่จะไปเยี่ยมพ่อแม่ เลิกเฉื่อยช้าในการตัดสินใจรับใช้พระเจ้า หรือเลิกเบียดเบียนเวลาที่จะให้กับลูกๆของเราเพื่อไปทำงาน โดยความช่วยเหลือของพระเจ้า เราสามารถเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีสติปัญญา

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา